สถาปนิก IDOL รุ่นพี่ลาดกระบัง
พี่นัน หรือ นายนันทวัชร์ ชัยมโนนาถ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ และแนะนำเส้นทางการเดินเข้าสู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้ที่ทำให้ความฝันของใครหลายคนเป็นความจริงมาเป็นเวลาหลายปี
หลังจากที่เราหลายคนอาจจะรู้จักและเคยได้ยินชื่อของพี่นันในฐานะ ผู้สอนของสถาบันติว
A-le paint ที่โด่งดัง เราจะมารู้จักพี่นันในอีกด้านหนึ่ง มุมมองและข้อคิดต่างๆ ในฐานะของ "สถาปนิก" มืออาชีพกันบ้างนะคะ
สวัสดีค่ะพี่นัน ขออนุญาตถามประวัติส่วนตัวคร่าวๆนะคะพี่ ว่าพี่เรียนจบที่ไหน ปีไหน แล้วมีการศึกษาต่อปริญญาโทที่ไหน ในสาขาใดบ้างคะ
พี่เรียนจบปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบังนี่แหละครับ เรียนจบเมื่อปี2546 ส่วนปริญญาอีกใบเป็น การออกแบบสื่อสารคอมพิวเตอร์ เอส เอ อี อินเตอร์นาชั่นนอล ส่วนปริญญาโท ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาบริการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มหาลัยธรรมศาสตร์ครับ
ในการทำงานของพี่ในปัจจุบัน พี่ทำงานด้านใดบ้างคะ
การทำงานของพี่ตอนนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนครับ
ส่วนแรกคือ การเขียนและสอนหนังสือครับ ก็มีทั้งสอนประจำที่สถาบัน เอ เลอ เพนต์ และโครงการ เปปทีน ของเครือบริษัทโอสถสภาครับ รวมถึงทำคู่มือหนังสือและออกข้อสอบสถาปัตย์ในโครงการต่างๆครับ

ภาพบรรยากาศการสอนที่งานเปปทีน

ภาพรวมเหล่าน้องๆ เอเลอร์เพนท์

ตัวอย่างภาพประกอบในหนังสือของพี่นัน
ส่วนที่สองคือ การบริหารงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครับ รวมถึงการให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจประเภทนี้
ส่วนสุดท้ายคือ อาชีพสถาปนิกนักออกแบบครับ ทำงานที่บริษัทคาเมร็อต เวิร์คสครับ ถ้าจะโฟกัสก็อาจจะเลือกโฟกัสในส่วนของสถาปนิกดีกว่าครับ จะได้ตรงกับสายการเรียนของน้องที่กำลังจะจบมาเป็นสถาปนิกในอนาคตครับ
เมื่อพูดถึงวิชาชีพสถาปนิก พี่มีแนวคิดอย่างไรกับลักษณะการทำงานในปัจจุบันคะ
ลักษณะการทำงานของอาชีพสถาปนิกในปัจจุบัน จริงๆแล้วก็เป็นรูปแบบทั่วไปตามที่ได้เคยเป็นมาในอดีตนี่ล่ะครับ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานบ้างในบางครั้งเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้การจะให้สถาปนิกมานั่งออกแบบทำงานอยู่แต่ในห้องแอร์สบายๆอย่างเดียวนั้นยากแล้ว เพราะเทคโนโลยี วัสดุการก่อสร้างเดี๋ยวนี้มันก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงกันวันต่อวันเลย สถาปนิกต้องเร็วและตอบสนองต่อสิ่งพวกนี้เร็วมาก ลูกค้าไม่ใช่คนที่เดินมาแล้วให้เรานั่งออกแบบแล้วมานั่งมองว่าสวยหรือไม่สวยอย่างเดียวแล้ว เค้ารู้มากในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ สิ่งนี้ทำให้สถาปนิกหรือการทำงานในวิชาชีพนี้ต้องรู้มากยิ่งขึ้น แต่ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุกครับ การทำงานในปัจจุบันแม้ว่าคอมพิวเตอร์จะมีบทบาทเข้ามาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่มือนี่แหละสำคัญที่สุด เพราะความคิดรายละเอียดออกมาผ่านมือ มันรวดเร็ว และสื่อสารได้ทันที บางทีลูกค้าต้องการเปลี่ยนแบบของเราหน้างานตรงนั้นเลย เราต้องมีทักษะในการคิดสดตรงนั้นเลย แล้วก็เขียนรายละเอียดให้ลูกค้าได้ในทันทีเลย นี่เป็นลักษณะการทำงานในปัจจุบันที่เน้นความรวดเร็วทันใจเลย ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนนิดหน่อยแล้วต้องกลับมาคิดใหม่ มันทำให้ระบบทุกอย่างช้าไปหมด การทำงานปัจจุบัน สถาปนิกเลยไม่ต่างจากปราชญ์เลย ต้องรู้ทุกอย่างจริงๆ ความสนุกที่มากกว่านั้นคือ รู้แล้วก็ต้องรู้เพิ่มเข้าไปอีกนี่แหละครับ
เคยมีบางลูกค้าบางรายเหมือนกันที่วันแรกที่มาบอกว่าอยากได้คอนโดแบบนี้ คือ ทางมาร์เก็ตติ้งของบริษัทเขาบอกมาอย่างนี้ แต่ก่อนที่จะมาเจอกันหนึ่งวัน ไปดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วประทับใจมาก ก็เลยเปลี่ยนใจกะทันหันว่าอยากได้แบบตามบ้านของพระเอกในเรื่อง เราก็ต้องเข้าใจเขาทันทีว่าต้องการแบบไหน ต้องหาเรื่องนี้มาดูในทันที เพื่อจะทำแบบให้ได้อย่างที่ลูกค้าต้องการทันที เรื่องนี้เหมือนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญหรอก ก็แค่กลับมาหาข้อมูลค่อยๆคิด แต่การที่รู้เลยเดี๋ยวนั้น สามารถคุยความต้องการได้ทันที เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างรายล่าสุดนี้ก็มาเลย แบบว่าดูเรื่องแรงเงา แล้วชอบในที่ทำงานของ ผอ. ในเรื่องมาก อยากได้มาเป็นรายละเอียดในการตกแต่งโถงส่วนกลางในบ้านของเค้า เราเองต้องรู้และเข้าใจและสามารถอธิบายได้ทันทีว่าแบบที่มีในละครนั้นมาจากโรงพยาบาลทำศัลยกรรมอยู่ที่นี่ ถ้างั้นเปลี่ยนที่คุยแบบไปคุยกันที่นั่นเลย จะได้เห็นภาพไปพร้อมกัน รายละเอียดเหล่านี้เป็นเสน่ห์ที่สถาปนิกปัจจุบันต้องมี เพราะนั่นจะทำให้เป็นเหตุผลว่า ทำไมเค้าถึงต้องเลือกที่จะมาออกแบบกับเรา และเห็นความสำคัญของวิชาชีพนักออกแบบอย่างเรา
และจากการทำงานที่ผ่านมาผลงานของพี่นัน เป็นผลงานแบบไหนบ้าง และมีโครงการไหนที่มีความพิเศษและอยากให้เป็นกรณีศึกษาบ้างคะ
ช่วง 1-2ปีในอาชีพการทำงานสถาปนิกนั้น ส่วนใหญ่แล้วพี่จะออกแบบแต่ส่วนของคอนโดครับ เนื่องจากบริษัทที่พี่ไปอยู่ในช่วงนั้นส่วนใหญ่แล้วจะรับออกแบบอาคารสูงครับ ก็เลยหนีไม่พ้นที่จะมีแต่คอนโดและอาคารสำนักงาน
ส่วนผลงานที่น่าจะเอามาเป็นตัวอย่างในการศึกษาการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย แม้ว่าจะเป็นเวลาการทำงานที่ยาวนานแต่เป็นการทำงานที่มีคุณภาพครับ คือ โครงการสาทรสแควร์ ตรงทางโค้งเส้นนาราธิวาสน่ะครับ จำได้ว่าเป็นโครงการหนึ่งที่ใช้ทีมของสถาปนิกเยอะมาก เพราะแต่ละส่วนของอาคารนั้นมีความยากจริงๆ เป็นโครงการที่ทั้งเหนื่อยทั้งหนัก แต่สอนอะไรเพิ่มเติมในสิ่งที่สถาปนิกลืมไปได้หลายอย่างครับ
อย่างแรกคือ การทำงานร่วมกับวิชาชีพเพื่อนตายของเรานั่นคือ วิศวะครับ เมื่อก่อนช่วงที่เรียนมักจะมีรุ่นพี่บางคนบอกมาว่า คณะสถาปัตย์ของเรานั้นเป็นอริกับคณะวิศวะ ซึ่งในอาชีพความเป็นจริงนั้น สถาปนิกจำเป็นอย่างยิ่งครับที่จะต้องมีเพื่อนเป็นวิศวกรโยธา ยิ่งมีคู่ใจที่สามารถปรึกษางานได้แล้วยิ่งจะทำให้การทำงานแบบไหลลื่นขึ้นครับ จริงๆแล้วเป็นโชคดีอย่างมากที่สมัยที่เรียนนั้น เพื่อนของพี่เองติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบังเหมือนกัน ช่วงเรียนเราก็เห็นเขาคำนวณไปมา ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราเท่าไหร่หรอก แม้กระทั่งตอนที่จะจบแล้ว ก็ยังคิดเลยครับว่า อาชีพสถาปนิกอย่างเราก็แค่ออกแบบ แล้วก็เขียนออกมาเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของวิศวกรอย่างเค้าที่จะต้องทำแบบคำนวณออกมาให้ได้ตามสิ่งที่เราต้องการครับ

อาคารสาทรแสควร์
แต่เพราะโดยอาคารสาทรสแควร์นี้แหละครับ ที่เส้นโครงสร้างแต่ละส่วนมันยากมาก และต้องหาจุดเชื่อมต่อทางการออกแบบที่ตรงกัน การทำงานกับวิศวกรเลยไม่ใช่การทำงานที่วาดแบบเสร็จแล้วส่งไป แต่เป็นการนั่งออกแบบร่วมกันเลย มันทำให้เราเห็นถึงแง่คิด ถึงข้อดีข้อเสียและความเป็นจริงในการก่อสร้าง ในการวัดแบบต่างๆ ทุกคำแนะนำแง่คิดต่างๆนั้น ทำให้รู้ได้เลยว่า การทำงานใหญ่ของสถาปนิก ไม่ใช่แค่การออกแบบ แต่เป็นนักเชื่อมความสัมพันธ์ต่างๆให้ลงตัว ไม่ว่าจะได้รับสารมาจากเจ้าของ มาเกราให้เกิดเป็นแบบที่คุยกับวิศวกรในโลกของความเป็นจริง เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆที่สวยงามและมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทางที่เดินจะราบลื่นขนาดที่ว่าไม่มีอุปสรรคอะไรเลย เพราะอุปสรรคนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น แบบของเราที่เราออกแบบนั้น วิศวกรไม่เห็นด้วย แล้วเปลี่ยนแบบว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะง่าย รวดเร็ว ประหยัดและถูกต้อง ซึ่งแน่นอนถ้าเกิดว่าทำตามนั้นก็จะไม่ได้แบบที่เราคิดว่ามันต่างออกไป เลยทำให้เกิดพลังในการต้านแบบกันไปมาอยู่ตลอด จริงๆแล้วคล้ายกับว่าเป็นการต่อสู้กันเลยทีเดียว แน่นอนครับความเครียด มาเรื่อยๆเป็นระยะๆอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องประคับประคองทุกอย่างให้สามารถเดินไปได้ โดยที่มีทางออกเพื่อสนองความต้องการให้กับทุกฝ่าย
ถ้าอย่างงั้นข้อคิดที่สำคัญในการทำงานในวิชาชีพนี้คืออะไรคะแล้วการปฏิบัติตนต่อการทำงานจะต้องทำอย่างไรบ้าง
การทำงานเป็นนักออกแบบสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ ความอดทนครับ หลายคนอาจจะคิดว่า ความอดทนต่อการทำงานนั้น เป็นคุณสมบัติของสถาปนิกอยู่แล้วไม่ต้องห่วง ตอนที่เรียนมาอดหลับอดนอนทำงานมาตลอด อึดครับ ทำงานถึกได้สบายมาก แต่นั่นเป็นคนละความหมายของคำว่า อดทนที่พี่อยากให้น้องเข้าใจครับ
คำว่า อดทน ของพี่นันที่พูดถึงไปแท้จริงคืออะไรคะ
ความอดทนในที่นี้คือ ความอดทนในการพูดคุยกับลูกค้าในวันที่เราออกแบบมาไม่ได้เป็นอย่างใจเขาต้องการ ความอดทนต่อการที่จะต้องเอางานที่ออกแบบของเราที่เราชอบและคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว กลับไปแก้โดยที่เรามีความรู้สึกว่าแก้ตามแบบที่ลูกค้าต้องการนั้นไม่ได้จะสวยและดีไปกว่าแบบที่เราออกแบบมาให้เค้าตอนแรก และแทนที่แบบจะจบได้เงินในส่วนนี้ ทำให้ต้องเกิดกระบวนการทำงานขึ้นใหม่อีกครั้ง ไม่ต้องห่วงเลยครับ ต่อให้เป็นเทพเจ้าแค่ไหน เก่งแค่ไหน สถาปนิกเป็นอาชีพที่ต้องสร้างฝันให้ตรงกับฝันของคนที่จ้าง ไม่ใช่การสร้างฝันให้กับตัวของสถาปนิกเองครับ ดังนั้น ตั้งแต่เรียนแล้ว ถ้าแบบไม่ตรงใจเราก็ต้องแก้ไขครับ ต้องคุย ต้องอดทน ทำทุกอย่างด้วยความนอบน้อมและให้เกียรติกับลูกค้าครับ ไม่ว่าลูกค้านั้นจะแรงขนาดไหนก็ตาม ต้องเข้าใจไว้ว่าเราเป็นนักบริการอย่างหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเราควบคุมทุกอย่างไว้ไม่ได้ แสดงว่าเรายังไม่เก่งครับ มีเพื่อนพี่หลายคนเหมือนกันออกจากอาชีพนี้ไปเลย เพราะว่าคำเพียงคำเดียวคำนี้ล่ะครับ
งั้นจะมีแนวทางไหนไหมคะพี่พอจะแก้ปัญหาหรือให้เราเตรียมตัวก่อนจะเจอกับปัญหาบ้างคะ
ถามว่า จะมีแนวทางการทำงานอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและลดปัญหาข้างต้นให้ได้มากที่สุด สิ่งที่จะเอามาช่วยได้แต่ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นนะครับ เพราะต้องอย่าลืมว่า ปัญหาจะเข้ามาในชีวิตเราอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาครับ แต่จะน้อย จะมากนั้นขึ้นอยู่กับเราจัดระบบขั้นตอนของการทำงานอย่างไร
การวางขั้นตอนการทำงานโดยจัดระบบเวลาการซ้อนทับกันของแต่ละงานให้เผื่อช่วงเวลาที่ต้องทำการแก้ไขด้วย ระบบชีวิตจะๆได้ไม่รวนครับ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ทำแบบไปส่งนั้น จะต้องพร้อมจัดระบบเวลาว่าถ้าเกิดว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นนั้น เราจะมีเวลาแก้ไขมันและไม่กระทบไปกับงานส่วนอื่นๆหรือไม่ เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่น่าจะมีสถาปนิกหรือบริษัทไหน ทำงานไปทีละโครงการโดยที่ไม่มีการซ้อนกันแต่อย่างใด
การวางขั้นตอนการทำงานโดยจัดระบบเวลาการซ้อนทับกันของแต่ละงานให้เผื่อช่วงเวลาที่ต้องทำการแก้ไขด้วย ระบบชีวิตจะๆได้ไม่รวนครับ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ทำแบบไปส่งนั้น จะต้องพร้อมจัดระบบเวลาว่าถ้าเกิดว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นนั้น เราจะมีเวลาแก้ไขมันและไม่กระทบไปกับงานส่วนอื่นๆหรือไม่ เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่น่าจะมีสถาปนิกหรือบริษัทไหน ทำงานไปทีละโครงการโดยที่ไม่มีการซ้อนกันแต่อย่างใด
การวางขั้นตอนการทำงานโดยจัดระบบเวลาการซ้อนทับกันของแต่ละงานให้เผื่อช่วงเวลาที่ต้องทำการแก้ไขด้วย ระบบชีวิตจะๆได้ไม่รวนครับ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ทำแบบไปส่งนั้น จะต้องพร้อมจัดระบบเวลาว่าถ้าเกิดว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นนั้น เราจะมีเวลาแก้ไขมันและไม่กระทบไปกับงานส่วนอื่นๆหรือไม่ เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่น่าจะมีสถาปนิกหรือบริษัทไหน ทำงานไปทีละโครงการโดยที่ไม่มีการซ้อนกันแต่อย่างใด
และทุกการเก็บ File ในขั้นตอนการทำงาน ก่อนที่จะเสร็จ Final แบบถึงมือลูกค้านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแบบขั้นตอนออกมาเป็นส่วนย่อยต่างๆเสมอ เพราะเมื่อลูกค้าปรับเปลี่ยนจุดตรงไหนบ้างจะทำให้อยู่ในทางหรือระบบที่เราวางไว้อยู่แล้ว จะได้ง่ายต่อการทำงานและไม่เครียดครับ เมื่อเวลาที่แบบนั้นเกิดปัญหา อ่านหนังสือเยอะๆตลอดการทำงานทุกอาทิตย์ เราต้องเพิ่มความรู้ทางวิชาชีพเข้าตัวเองอยู่เสมอครับ โดยเฉพาะในส่วนของการก่อสร้างและกฎหมายการก่อสร้างเพราะนี่เป็นจุดอ่อนของสถาปนิกหลายคนในปัจจุบัน พอเราออกแบบโดยที่ไม่รู้กฎหมายนั้น มันจะสร้างความเซ็งเมื่อเวลาที่เราไปส่งแบบให้กับ เขตที่เราต้องการก่อสร้าง ละแน่นอน ลูกค้าเขาไม่รู้อะไรตรงนี้เท่าไหร่ และที่สำคัญกฎหมายเหล่านี้นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ถึงกับเปลี่ยนเร็วเหมือนพวกเทคโนโลยีขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแต่ว่าเจ้ากฎหมายที่ว่านี้ มันจะชอบมาเปลี่ยนแบบแอบๆครับ ทำให้เราหงุดหงิดว่าเปลี่ยนตรงจุดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เหมือนว่าเป็นปัญหาเล็ก แต่ถ้าเป็นการออกแบบอาคารใหญ่แล้วเราต้องมาเปลี่ยนตรงจุดเล็กๆแล้วส่งผลต่อเนื่องไปยังจุดต่างๆอย่างต่อเนื่อง อันนี้อาจจะขำไม่ออกครับ
พี่มีความคิดเห็นอย่างไรกับ จรรยาบรรณวิชาชีพ และคิดเห็นอย่างไรกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมคะ
ปัจจุบันคำๆนี้แหละครับ คำเดียวทำให้เกิดประเด็นมากมายในวงการการออกแบบ ด้วยความที่คำๆนี้มันเข้าใกล้กับคำว่า "อีโก้" เหลือเกิน เลยทำให้เกิดประเด็นทะเลาะและทั้งเห็นใจนักออกแบบเกิดขึ้นตามกระทู้ต่างๆในโลกอินเตอร์เน็ต จรรยาบรรณในทางวิชาชีพนั้น เป็นสิ่งที่สถาปนิกเราต้องทำความเข้าใจจริงๆครับ ไม่ใช่ว่าแค่อ่านแล้วเอาความเป็นตัวเราเองเข้าไปอยู่ด้วย อย่างนี้ก็เหนื่อย ยกตัวอย่างเช่น อันนี้เป็นอันที่เคยนั่งๆกดคอมอยู่แล้วเห็นขึ้นมาเลย ยังงงๆอยู่เลยว่ามันเป็นประเด็นขึ้นมาได้ยังไง กฎของจรรยาบรรณที่ว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่กระทำการใดๆอันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ" พอมันมีคำว่า เกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ เท่านั้นล่ะครับ กลายเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันไปต่างๆนานาว่า มีสถาปนิกบางคนรับงานออกแบบด้วยราคาที่ต่ำกว่าสถาปนิกอีกคน เป็นการตัดราคากันเอง จากนั้นก็ทำการออกแบบได้ไม่ดีเท่าคนแรก การกดราคาค่าออกแบบกันเองเพื่อแย่งชิงงานมานั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นพอกดแล้ว กลับได้คุณภาพงานที่ไม่ดี มันกลายเป็นว่า ผู้ที่มาว่าจ้างเสียความรู้สึกไปกับวิชาชีพนี้ไปเลย เหมือนกับว่า ถ้าเกิดว่าทำงานอย่างนี้แล้ว สู่ไปเอาแบบบ้านตามนิตยสารหรือว่าให้เด็กช่างที่เรียนงูๆปลาๆออกแบบให้ก็ได้ ไม่ต้องเสียราคาแพงจ้างสถาปนิกคนนั้นหรอก เจ้าของก็จัดการพิมพ์ระบายความในใจของตัวเองลงทางอินเตอร์เน็ตเลยครับ คราวนี้ก็มีสถาปนิกอีกหลายคนเข้ามาผสมโรงเลย บอกว่า ค่าแรงของวิชาชีพนี้มีมาตรฐานของตัวมันเองอยู่แล้ว สถาปนิกคนนั้นขายศักดิ์ศรีของวิชาชีพความเป็นสถาปนิกเพื่อรับงานในราคาถูก และเมื่อทำออกมาแล้วไม่ดี อาจจะไม่ใช่ว่างานไม่ดี แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเจ้าของต้องการแบบที่เกินมาตรฐานฝีมือหรือค่าจ้างที่สถาปนิกคนนั้นมีต่างหาก นั่นเป็นเพราะผู้ว่าจ้างจ่ายเงินในราคาถูก เลยไม่ได้ตัวสถาปนิกที่มีฝีมือ ดังนั้น เจ้าของก็ต้องยอมรับงานที่คุณภาพตามตัวเงิน คราวนี้เลยกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันใหญ่เลยครับ ว่าแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ถ้ายอมจ่ายเงินตามมาตรฐานที่ทางสมาคมสถาปนิกกำหนดแล้ว คุณภาพของตัวงานจะได้ดีกว่าคนที่รับงานต่ำกว่าราคานั้น การที่รับงานราคานั้นอาจจะเป็นเพราะว่าเค้ามีทีม มีแบบที่ทำทางนี้อย่างชำนาญแล้วก็เป็นได้ เลยสามารถคิดราคาได้ถูก แค่เห็นแค่นี้ก็เหนื่อยแล้วล่ะครับ จรรยาบรรณของสถาปนิกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากครับ ทุกจุดสามารถเอาเข้ามาถกเถียงได้หมดเลย แล้วแต่ว่ามุมมองในปัจจุบันหรือสภาพแวดล้อมนั้นเป็นเช่นไร แล้วเราสามารถอยู่ตรงกลางได้แค่ไหน
ส่วนคำถามที่ว่า คิดเห็นอย่างไรกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่สถาปนิกในอนาคตต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะอย่างที่พี่เห็นปัจจุบันนั้น น้องๆที่จบใหม่จะเน้นเหลือเกิน เพราะเข้าใจว่า การที่บ้านจะเย็นได้ หรือที่มีความเรียกเท่ห์ๆกันว่า ออกแบบๆ Sustainable Architecture หรือการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืนนั้น ก็แค่การใช้วัสดุที่ไม่เป็นภัยต่อธรรมชาติ จากนั้นก็พยายามสร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดความร่มเย็นขึ้นในบ้าน ก็อาจจะโดยการใส่ต้นไม้เข้าไป ยิ่งใส่เยอะก็ยิ่งร่มรื่น โดยที่แท้จริงแล้ว ยังไม่ได้เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่าต้นไม้แต่ละต้นมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบข้างต่างกันอย่างไร รู้แค่ว่ามันถูกแบ่งประเภทอยู่ในหนังสืออยู่แล้วว่าอันไหนเป็นไม้พุ่ม อันไหนเป็นไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา รู้เท่านั้นก็จัดเลย ซึ่งความหมายที่แท้จริงนั้น เราอาจจะไม่จำเป็นต้นยัดทุกอย่างเข้าไปขนาดนั้น สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งมีชีวิตครับ การที่เค้าจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น เราต้องเข้าใจระบบก็ใช้ชีวิตของเค้าก่อนครับว่า เค้าชอบอะไร การแบ่งพื้นที่เกิดความสัมพันธ์กันตรงจุดไหน แล้วค่อยใส่เทคโนโลยีเข้าไปบ้าง ใส่ลมทิศธรรมชาติเข้าไปเติมเต็มบ้าง ซึ่งบางส่วนตัวสถาปัตยกรรมเอง ต้องการเปิดโล่งเพื่อรับแสงแดดบ้าง หายใจได้บ้างจากลม กระแสน้ำที่ไหลผ่านเกิดเสียงน้ำแค่ไหน จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมไว้ในอนาคตครับ เพราะมนุษย์ยิ่งนับวันเราจะยิ่งโหยหาธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่ต้องห่วงเลยครับ งานออกแบบในอนาคต จำเป็นจะต้องมีส่วนนี้เข้าไปแน่นอน
พี่คิดว่า"สถาปนิกรุ่นใหม่ที่จบลาดกระบัง"มามีคุณภาพอย่างไรแล้วพี่ต้องการให้ภาควิชาปรับปรุงลักษณะบัณฑิตออกมาให้เป็นอย่างไร ในแนวทางไหนหรือป่าวคะ
โดย 1-2 ปีที่ผ่านมายอมรับว่า ยังไม่ได้มีโอกาสทำงานกับน้องที่จบใหม่จากลาดกระบังเลย แต่ก่อนหน้านี้ ก็โอเคครับ อย่างแรกที่พี่คิดว่ามันเป็นเสน่ห์ของลาดกระบังเลยแล้วไม่อยากให้มันเลือนหายไปเลยคือ ความน่ารัก อดทน ประมาณว่า ไม่กลัวงานหนัก งานควาย (ขอโทษทีใช้คำไม่สุภาพ) ซึ่งนี่เป็นลักษณะเด่นเหมือนกันครับ ที่พี่คิดว่ามันดีนะ จบมาเนี่ย เจออะไรต้องลุยอย่างเดียวเลย ทุกอย่างเป็นครูไปหมด อย่าไปคิดมากครับว่าทำงานนั้นงานนี้แล้วมันไม่ได้อะไรกับตัวเองเลย คิดอย่างนั้นทำอะไรก็ยาก พี่เองเคยลองใจ น้องที่จบใหม่จากมหาลัยชั้นนำของประเทศไทยมหาลัยหนึ่งเหมือนกัน โยนงาน Present เขียนหญ้าของโครงการขึ้นมา โดยที่บอกน้องคนนั้นว่า พี่ต้องการให้เขียนหญ้าทีละเส้น

ตัวอย่างการเรนเดอร์ต้นไม้และต้นหญ้าด้วยมือ
พอพี่บอกเท่านั้นแหละครับ น้องคนนั้นร้องโอยเลยทีเดียว บอกว่าทำๆไม ไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไรเลย เอาไป Print ใน Com แล้วเข้ามาตัดต่อก็ได้ ได้ผลออกมาเหมือนกัน ครับพี่เองก็เข้าใจว่ามันก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันนั่นแหละ แต่พี่กำลังจะต้องการฝึกความละเอียดอ่อนและความอดทนในการทำงานของน้องคนนั้นอยู่ เชื่อมั้ยว่าแค่เปลี่ยนมุมมอง งานทุกงานมันมีประโยชน์ในแง่ของมันหมด การเขียนหญ้าทีละเส้นเป็นเรื่องยากนะครับ เพราะหญ้าทุกเส้นแต่ละเส้นนั้นถ้าเกิดว่าเราเขียนน้ำหนักที่เท่ากันทั้งหมด หญ้ามันก็จะออกมาไม่สวย แต่ละเส้นที่ขึ้นมานั้น ต้องดูด้วยว่าเราจะปัดปลายมันขึ้นมายังไงให้ดูมีความนุ่มที่สุด เพราะมันคือความเป็นธรรมชาติ แถมถ้าเรามองรายละเอียดเพียงแค่ต้นหญ้าต้นเดียวเท่านั้น จะกลายเป็นว่าในความละเอียดอ่อนที่เราใส่ลงไปนั้น เราเองต้องห้ามลืมมองภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นด้วย เพราะแต่ละหย่อมนั้น อาจจะมีองค์ประกอบรอบข้างมาทำให้น้ำหนักของหญ้าในแต่ละพื้นที่นั้นไม่เท่ากัน มันเหมือนกับฝึกให้เราทำทุกสิ่งทั้งเรื่องภาพรวมและรายละเอียดเล็กน้อยไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกแต่ละคนต้องมีในการออกแบบเสมอครับ พร้อมทั้งการเขียนหญ้าให้เสร็จนั้น เปรียบได้กับการออกแบบที่ต้องใช้เวลาและความอดทน ถ้าพื้นที่มันกว้าง เราต้องอดทน พยายามสร้างมันด้วยความละเอียด อย่าข้ามขั้นตอนเยอะนัก นี่แหละคือ สิ่งที่น้องๆที่จบใหม่น่าจะเรียนรู้ไว้ครับ
ขอบพระคุณมากค่ะพี่ ในคำแนะนำและข้อคิดดีๆ ที่ทำให้เข้าใจในวิชาชีพนี้มากขึ้น
ในคำถามสุดท้ายนี้นะคะ ขอถามถึงชีวิตในระหว่างการเรียนที่ลาดกระบังค่ะ มีเรื่องใดที่น่าจดจำ แล้วบรรยากาศการเรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ แล้วพี่คิดว่าทุกวันนี้มีอะไรแตกต่างไปบ้างคะ
สมัยที่เรียนบรรยากาศที่เข้ามาจะต่างจากสมัยนี้มากครับ แค่ถนนหนทางก็ต่างกันแล้ว การจะมาลาดกระบังได้มาได้ 3 ทาง คือ รถส่วนตัว, รถเมล์ ซึ่งตอนนั้นมีแค่สองสายที่เข้ามาในเมืองเอง และสุดท้ายคือ รถไฟไทย ที่มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ตรงที่ถ้าเกิดว่าเรามาเร็ว ตามเวลาในตาราง รถจะวิ่งมาสาย แต่ถ้าเกิดว่าเรามาสาย มันจะมาตรงเวลาตามตาราง ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ไม่มีในโลกนี้
ปีที่พี่มาเรียนนั้น จำได้ว่าเกือบทั้งรุ่นต้องมาอยู่หอกันหมด ไม่ใช่ว่าเราต้องการมาอยู่ขนาดนั้นครับ เพียงแต่ว่าการเดินทางมันยากลำบากเกินกว่าที่จะเรียนออกมาได้ดีน่ะ และยิ่งช่วงตอนนั้น จำได้ว่า ที่คณะอนุญาติให้นักศึกษาอยู่ค้างกันได้ อีกทั้ง อาจารย์เองก็อยู่หอพักเหมือนกัน ทำให้ก็สอนกันไปแบบว่านอกเวลาด้วย
ช่วงเวลากลางคืนที่คนอื่นคณะอื่นต่างกลับบ้านไปแล้ว แต่ของเราเหมือนว่าตอนเย็นทุกคนแยกย้ายกันไปอาบน้ำ กินข้าวที่หอพักของตัวเอง จากนั้นสามทุ่มก็แวะกันมาที่คณะมานั่งทำงานกัน บางคืนอาจารย์ที่ลาดกระบังเองเปิดห้องเรียนสอนกันต่อเลยก็มี จำได้ว่าเป็นบรรยากาศที่โคตรจะเรียนกันเลย เราไม่รู้เดือนไม่รู้ตะวันเลย สมัยนั้น Internet มีแล้ว แต่ว่าเราไม่ได้ Connect กับโลกภายนอกขนาดนั้น ถ้าจะเล่นก็คือต้องตั้งใจเข้าไปนั่งเล่นจริงๆเลย เพราะขนาดมือถือเองยังมีนับคนในรุ่นได้เลย ไม่มีมากหรอก เป็นของหายากและแพงครับ มันทำให้การใช้ชีวิตเรียนอยู่ด้วยกัน วิถีมันต่างจากสมัยนี้อยู่เยอะมากพอสมควร
พี่พอจะมีภาพบรรยากาศในการเรียนในขณะนั้นบ้างรึป่าวคะหรือพอจะเล่าแบบคร่าวๆได้มั๊ยคะ
เรื่องของรูปภาพนั้น หายากมากครับ เพราะว่าสมัยนั้นเป็นกล้อง Film กันหมด ยังไม่มีหรอก Digital สมัยนั้นความทรงจำต่างๆของพี่สมัยนั้นเลยเป็นภาพในหัวซะมากกว่า สมัยนั้นจำได้ว่า เราเข้ามาเรียนกันด้วยความมุ่งมั่นมากทั้งรุ่นเลย ความยากเก่ง เรียกได้ว่ากระหายอยากเก่งมันมีมากจนเกิดเป็นการแข่งขันกันในรุ่น แต่เป็นการแข่งแบบที่ทุกคนพยายามที่จะสร้างให้งานมันออกมาดีที่สุดน่ะครับ ยิ่งเรียนยิ่งมันส์ พี่จำได้ว่าเรียนปี1 ผ่านไป เรามีความรู้สึกว่าเราทำงานกันหนักมาก เสาร์ อาทิตย์ไม่ได้กลับบ้านเพราะว่าพยายามทำงานให้เวลากับมันเพื่อที่จะได้งานออกมาให้ดีที่สุด

จำได้ว่าช่วงที่จบปี 1 นั้น เราต่างมีความรู้สึกว่า เมื่อไหร่จะเก่งขึ้นกว่านี้นะ พยายามแล้วพยายามอีก ก็ไม่เก่งในความรู้สึกเราซักที แต่พอปิดเทอมขึ้นปี2 เท่านั้น ได้มีโอกาสไปเดินดูงานของมหาลัยเอกชนที่อื่น ดูไปก็เกิดคำถามอีกแล้วว่า นี่มันงานของปีโตๆแน่นะ แล้วเป็นงานที่ได้โชว์ด้วย แต่ทำไมเอามีความความรู้สึกว่า งานมันยังไม่เห็นดีเลย เราว่าขนาดเราซึ่งยังไม่ดี ยังน่าจะทำออกมาได้ดีกว่าเลย นี่ไม่ใช่ดูถูกนะ เพียงแต่ว่าสมัยนั้น เราเรียน เราบ้างานจนเราไม่รู้เลยว่า เราเจาะงานเข้าไปลึกกว่าชาวบ้านแล้ว ซึ่งนี่พี่คิดว่าน่าจะเป็นแง่ดีของสมัยนั้นนะ ความอดทน ความมุ่งมั่นที่อยากจะเก่งมันมีมากเหลือเกิน น่าจะเป็นเพราะสมัยนั้นการสอบเข้าลาดกระบังมันไม่ได้มีความรู้สึกเทียบเท่าสมัยนี้ว่าสอบได้แล้วอะไรประมาณนั้น ความเป็นลาดกระบังสมัยพี่ จำได้ว่าผู้ใหญ่หลายคนน่าจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันไม่ใช่มหาลัย มันเป็นสถาบันเทคโนโลยี
การเข้าไปของทุกคนลึกๆแล้ว มันเหมือนกับต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่างกัน ต้องการโดดเด่นกัน มันเลยนำพาไปสู่พลังแห่งการเรียน บวกกับห้องพักครูของอาจารย์สมัยนั้นเรียกได้ว่าแทบจะนอนค้างที่คณะกับพวกเราเลย (สมัยนี้พี่ไม่รู้นะว่าเป็นยังไง) แต่สมัยของพี่อาจารย์เป็นทีมที่อบอุ่นมากครับ เพราะบางคนสอนจนต้องค้างไปกับเราเลย แต่เห็นน้องสมัยนี้แล้ว พลังความมุ่งมั่นส่วนใหญ่มันจะอยู่ตอนที่พยายามจะสอบเข้าให้ได้เท่านั้น ช่วงเวลาที่จะสอบเข้านะ ขยันสุดๆ อดหลับอดนอนอ่านหนังสือ สร้างงานอย่างเต็มที่ แต่พอหลังจากที่เข้าไปเรียนแล้ว ล่าสุดได้คุยกับอาจารย์ที่ลาดกระบังท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า สมัยนี้น้องๆหลับในห้องเรียนกันเป็นว่าเล่น พี่เองก็ยังแซวกับอาจารย์อยู่เลยครับว่า จริงๆแล้วสมัยที่พี่เรียนก็หลับกันนะ ซึ่งก็อาจจะเป็นเอกลักษณ์ของคณะนี้ไปแล้วที่ห้องเรียนกับห้องสมุดคือ ห้องที่มักมีเด็กสถาปัตย์พยายามที่จะอ่านหนังสือสุดท้ายก็ไม่รอดต้องไปนั่งหลับที่นั่น
แต่อาจารย์บอกว่า สมัยนั้นถ้าเกิดเป็นวิชานอกคณะที่ต้องคำนวณเยอะๆ หลับอันนี้ไม่ได้อะไร แต่สมัยนี้วิชาในคณะที่มีความสำคัญกับเขาดันมาหลับ หรือบางทีเชิญวิทยากรที่มีเกียรติมาบรรยายสิ่งที่มีประโยชน์กลับกลายเป็นว่ามาหลับในห้องเรียนโชว์เค้าซะอย่างนั้น ซึ่งเป็นภาพที่ไม่น่ามองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอันนี้พี่เห็นด้วยเลย จะหลับต้องเลือกหลับครับ สิ่งไหนที่มีความสำคัญ การให้เกียรติตั้งใจฟังคนสอนนั้นมีความสำคัญมาก ก็อยากฝากไปถึงน้องๆปัจจุบันในเรื่องนี้ด้วยครับ
เมื่ออาทิตย์ก่อนไปเยี่ยมที่ลาดกระบังมา ถนนหนทางดูเจริญข้นอย่างมาก มีร้านเหล้าเต็มไปหมดเลย แล้วเวลาที่ขับผ่านสองข้างทางเข้าไปตรงเกกีนั้น เต็มไปด้วยร้านอาหารเต็มไปหมด ที่สำคัญร้านเหล้าเยอะมาก แล้วสองข้างทางมีน้องๆนั่งกินกันเต็มไปหมด Zone ที่ลาดกระบังตอนนี้พี่ว่ามันเหมือนกับว่ามันมีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะน่ะ ต่างจากสมัยที่พี่เรียนซึ่งไม่มีเลย จำได้ว่าร้านเหล้าจะมีอยู่แค่ 1-2 ร้านเท่านั้น การที่จะไปเดินห้างทั้งที ต้องตั้งใจอย่างมาก เพราะสมัยนั้นห้างที่ใกล้ที่สุดคือ ซีคอน สแควร์ ส่วน Paradise Park นั้นสมัยพี่เป็นเสรีย์ เซ็นเตอร์ ซึ่งไม่มีอะไรเลย เป็นห้างแนวอารมณ์ตลาดนัดบ้านๆเท่านั้นเอง
อาจจะเป็นเพราะจุดนี้หรือเปล่าที่การคิดงานของเรา เลยอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับโรงงานตัดไม้ โรงเลื่อย หน้างานตาม Site งานต่างๆที่ติดตามอาจารย์ไปดู เรื่องการเลิกเรียนแล้ว ไปเดินห้างอะไรทำนองนั้นมันเลยไม่มีน่ะ เพื่อนพี่เองหลายคนพูดอย่างนี้เหมือนกัน แต่พี่ว่ามันก็มีทั้งแง่ดีและแง่เสียต่างกันล่ะครับ
ส่วนกิจกรรมในคณะ พี่ว่าก็ไม่ต่างกับสมัยนี้เท่าไหร่นะ คล้ายกันนั่นหละครับ มีรากฐานวัฒนธรรมความเป็นมาที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เท่าที่ติดตาม กิจกรรมก็สนุกเหมือนเดิม เฮฮาตามประสาครับ น่ารักดี
ขอบคุณพี่นันนะคะที่สละเวลามาเล่าประสบการณ์พร้อมทั้งให้ความรู้และข้อคิดที่เราสามารถนำไปพิจารณาและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งทำให้รู้สึกดีใจมากที่ได้รู้จักกับสถาปนิกรุ่นพี่ลาดกระบังที่เรานับถือและเคารพตลอดมาแบบพี่คนนี้เลยค่ะ
นส.ทอรุ้ง โลหะภัณฑ์สมบูรณ์ 52020034






ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น